ข่าวประชาสัมพันธ์

เยาวชนศุภนิมิต ร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก ละเลย เลยรุนแรง

มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ระดับดีเด่น ประจำปี 2565 (Human Rights Awards 2022) ประเภทภาคประชาสังคม ได้จัดทำ “กิจกรรมเยาวชนนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อภาครัฐ” ภายใต้แนวคิด “ละเลย เลยรุนแรง” เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการยุติความรุนแรงต่อเด็ก โดยสามารถแสดงความคิดเห็นต่อหน่วยงานภาครัฐด้วยตนเองให้กับ 4 กระทรวงหลัก อันได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งกิจกรรมนี้ได้มีการมุ่งเน้นในประเด็นการ “ละเลย เลยรุนแรง” ต่อเด็ก ในด้านต่างๆ ได้แก่ 1. ด้านร่างกายและจิตใจ 2. ด้านสิ่งแวดล้อมความปลอดภัย 3. ด้านการศึกษาและการวางแผนชีวิต และ 4. ด้านการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบต่อสังคม

“มูลนิธิศุภนิมิตฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของสิทธิเด็กในการแสดงความคิดเห็น และการเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง จึงเปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการยุติความรุนแรง แสดงความคิดเห็นต่อหน่วยงานภาครัฐด้วยตนเอง และสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศได้ โดยกิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อสร้างเวทีนำเสนอความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนต่อหน่วยงานภาครัฐ ที่สามารถนำไปสู่การขับเคลื่อนในเชิงนโยบายในประเด็นของความรุนแรงและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ภายใต้แนวคิด ละเลย เลยรุนแรง เพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างให้ผู้นำเด็กและเยาวชนได้แสดงความคิดเห็น และแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ตลอดจนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กที่นำไปสู่การพัฒนาในระดับประเทศ และเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการยุติความรุนแรงต่อเด็กที่สอดคล้องกับงานพัฒนาเด็กและเยาวชน ร่วมกับภาคีเครือข่ายในระดับประเทศ” ดร.สราวุธ กล่าว

โดยตัวแทนเยาวชนจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศได้มีการนำเสนอข้อคิดเห็นต่างๆ ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เข้ามารับฟัง อาทิเช่น การขอให้กระทรวงมหาดไทย จัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม และจำเป็นต่อการสร้างความปลอดภัยให้กับเด็ก พร้อมปรับปรุงการให้ความช่วยเหลือเด็กอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น การสามารถแจ้งเหตุร้ายผ่านแอพพลิเคชั่นได้ การสร้างระบบสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ข้อเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข เช่น ขอให้ส่งเสริมถุงยางอนามัยฟรี การคุมกำเนิด การจัดการปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอย่างเหมาะสม การดูแลโรคติดต่อด้านเพศสัมพันธ์ ข้อเสนอต่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่องการให้ความช่วยเหลือครอบครัวที่มีรายได้น้อย 600 บาทต่อครอบครัว และเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ควรได้รับทุกคน เรื่องพรบ.คุ้มครองเด็กควรมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง ปัญหาการแต่งงานในวัยเด็ก และยาเสพติด ข้อเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ เด็กไทยต้องสามารถเข้าถึงกองทุน กยศ. ทุกคน เด็กไร้สัญชาติควรจะมีโอกาสได้รับสิทธิ์การเรียน และเข้าถึงสวัสดิการด้านการศึกษาของรัฐ และการเก็บชั่วโมงจิตอาสามีผลกระทบต่อการเรียนควรใช้รูปแบบอื่น เป็นต้น โดยตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 4 กระทรวงดังกล่าวที่เข้ารับฟัง ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น พร้อมกับให้ข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติมกับกลุ่มเยาวชนจากทั่วประเทศ

“การมีพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้แสดงความคิดเห็นในโครงการนี้ ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ครับ เนื่องจากเด็กและเยาวชนจะได้มีเวทีในการแสดงความคิดเห็น ได้นำเสนอในสิ่งที่พวกเขาอยากจะได้ อยากจะเป็น ให้เกิดขึ้นในชุมชนบนสิ่งที่ถูกต้อง เป็นพื้นที่ที่ให้ตัวแทนผู้นำเยาวชนได้เข้ามาสื่อสารกับทางผู้ใหญ่ของภาครัฐ เพื่อชุมชน เพื่อหมู่บ้าน เพื่อเพื่อนๆ ของเขา นี่ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก สิ่งที่เขาเสนออาจจะเป็นไปได้หรือไม่ได้ แต่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เขาได้มีโอกาสพูดและสื่อสารออกไปให้ผู้ใหญ่ได้ยินเสียง ก็อยากให้ทางภาครัฐได้รับเอาข้อเสนอไปพิจารณาเพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้นครับ” น้องตะวัน หนึ่งในผู้นำเยาวชน มูลนิธิศุภนิมิตฯ จังหวัดพังงา

“ผมอยากให้มีโครงการแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ต่อไปตลอด เพื่อจะได้เป็นการรณรงค์ให้คนรุ่นใหม่ ออกมาทำในสิ่งที่ถูกต้อง มาหาข้อแก้ไข ข้อยุติร่วมกัน หากเด็กเสนอ เด็กมีความคิด แต่ไม่มีเวทีที่จะให้พวกเขาแสดงออกก็เหมือนไร้ค่าครับ” น้องตะวัน กล่าวเพิ่มเติม

นอกจากนี้ มูลนิธิศุภนิมิตฯ ยังมีความมุ่งมั่นดำเนินพันธกิจเพื่อความหวัง ความสุข และความยุติธรรมของเด็กทุกคน เปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กเปราะบางยากไร้สู่ความอยู่ดีมีสุข ทั้งด้านสุขภาพ อนามัย ความปลอดภัยในชีวิต ส่งเสริมการศึกษาเพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ การเรียนรู้ พัฒนาครอบครัวและชุมชนของเด็กเปราะบางให้มีความมั่นคงด้านอาชีพ พึ่งพาตนเองได้ รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชน ครอบครัว ชุมชน อาสาสมัคร และระดมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการร่วมสร้างความอยู่ดีมีสุขแก่เด็ก รวมถึงการสนับสนุนกลุ่มแรงงานต่างชาติให้สามารถเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ และสิทธิด้านต่างๆ ทั้งหมดคือการแก้ไขรากของปัญหา เป็นการดำเนินงานเพื่อเสริมพลัง สร้างความเข้มแข็ง ส่งเสริมให้เด็ก ครอบครัว ชุมชน และกลุ่มเปราะบางได้รับโอกาส และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สอบถามข้อมูลข่าวประชาสัมพันธ์ ติดต่อ คุณวิภาวี ริ้วสุวรรณ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย 08-1494-5498

1-21.jpg

Email

Yingpipat Saenyakul