ข่าวประชาสัมพันธ์

สสส.-กทม. บูรณาการความร่วมมือ ปั้นโมเดลพื้นที่รกร้างเป็น “สวน 15 นาที” เพื่อสุขภาวะชุมชน

สสส. จับมือ กทม. ชวน we!park และศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ร่วมถกหาแนวทางปั้นโมเดล “สวน 15 นาที” เพื่อเป็นพื้นที่สุขภาวะให้คนทุกระดับเข้าถึงได้ ในหัวข้อ “มหานครกรุงเทพกับโมเดลสวน 15 นาที” เวทีเสวนาวิชาการและนโยบายด้านกิจกรรมทางกาย EP1-พัฒนาพื้นที่สุขภาวะที่ทุกคนมีส่วนร่วม: Active Environment for All หวังดันให้ได้ตามเป้า 500 แห่ง ทั่วกรุงตามนโยบายผู้ว่าฯ กทม.

นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า ตามนโยบายของ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่สุขภาวะ สวน 15 นาที ให้ได้ 500 แห่ง กทม.มีการปรับการทำงานด้วยการนำพื้นที่โล่ง พื้นที่รกร้างมาใช้ประโยชน์ โดยอยู่บนพื้นฐานสำคัญคือ ให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ปัจจุบันสวน 15 นาที มีพื้นที่เป้าหมายแล้ว 147 แห่ง โดยเป็นทั้งที่ดินของ กทม.เอง 69 แห่ง ที่ดินภาครัฐ 44 แห่ง และที่ดินเอกชน 34 แห่ง เสร็จสมบูรณ์และเปิดให้บริการแล้ว 52 แห่ง อยู่ระหว่างรอดำเนินการ 95 แห่ง
“การจะไปให้ถึงตามเป้าหมายไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการหาสถานที่ ที่เหมาะสม แต่ยังติดในเรื่องของกฎกติกาบางอย่าง เช่น หากเป็นที่ดินของเอกชนเจ้าของต้องยินยอมให้ใช้ที่ดินได้ในระยะเวลา 7 ปี ซึ่งหลังจากนั้นหากเจ้าของต้องการเอาที่ดินไปพัฒนาต่อก็อาจจะทำให้สวนที่ทำไว้หายไป อีกส่วนเรื่องก็คือเรื่องการดูแลรักษาหลังจากมีสวน 15 นาทีขึ้นมาแล้ว ซึ่งส่วนนี้จำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ และกลไกที่จะเข้ามาเสริมจาก สสส. ที่จะมีเครือข่ายมาช่วยบูรณาการเพื่อให้สวนได้ใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน”

ด้าน ผศ.ปาณิทัต รัตนวิจิตร หัวหน้าฝ่ายหลักสูตรฝึกอบรมและการวิจัย โครงการ we!park กล่าวถึงกลไกการพัฒนาสวน 15 นาที ด้วยหลักสูตรการอบรมเจ้าหน้าที่รัฐ ว่า มีการให้ความรู้กับแต่ละเขตในการเปลี่ยนแนวทางการจัดทำสวนจากเดิมที่มีการออกแบบแล้ว มาทำในแบบ we!park ตั้งแต่การหาพื้นที่ที่เหมาะสม การใช้ข้อมูล สร้างระบบการมีส่วนร่วมด้วยการถาม ความต้องการของชุมชน นำไปสู่ความร่วมมือจากชุมชน โดยมีเอกชนมาร่วมลงทุน เป็นการถอดบทเรียนเพื่อทำให้เจ้าหน้าที่ กทม.เปลี่ยนแนวคิดในการทำงานจากเดิมด้วยการลงมือในพื้นที่จริง เป็นการบูรณาการทำงานจากหลายฝ่ายของ กทม.ด้วยกัน

นายยศพล บุญสม ผู้ริเริ่มโครงการ we!park เสริมว่า พยายามสร้างโมเดลการทำงานให้เกิดขึ้น มีการออกแบบ วางแผน ทำพื้นที่ทดลองก่อนสร้างจริง ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่ใช่แค่กระบวนการทำงาน ยังต้องมีเรื่องของการระดมทุนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และสวนที่จะเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ก็ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละแห่งด้วยเช่นกัน โดยดูได้จากพื้นที่ดินแบบที่เกิดขึ้นแล้วอย่างสวนสารพัดคลองสาน สวนจิ๋วบางกอกน้อย สวนคันนายาว
“การทำให้ยั่งยืนสำคัญที่สุด นอกจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และประชาชนแล้ว ยังต้องการนโยบายที่จะมาสนับสนุน กฎหมายเรื่องที่ดินที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้น รวมถึงงบประมาณ และการปรับวิธีการทำงาน การผนวกนโยบายรัฐบาลท้องถิ่นกับรัฐบาลกลางจะทำให้มหานครอย่างกรุงเทพฯไปได้ดีกว่านี้ ไม่ใช่แก้ระดับแม่บ้าน ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลง พัฒนาพื้นที่สุขภาวะควบคู่ไปกับการพัฒนาคน ชุมชน”

ขณะที่ ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ยกตัวอย่างการพัฒนาย่านพระโขนง-บางนาสู่ย่านสุขภวะน่าอยู่ว่า หลังจากโครงข่ายคมนาคมขยาย มีรถไฟฟ้าในพื้นที่ถึง 6 สถานี แต่กลับสำรวจพบว่า ไม่มีทางเดินเชื่อมต่อไปยังสถานที่ต่าง ๆ ทั้งทางเดินเท้าที่ไม่เอื้ออำนวย พื้นที่สีเขียวไม่มี ขณะที่พื้นที่เปลี่ยนจากชายขอบกรุงเทพฯเป็นเกตเวย์ เป็นหนึ่งในพื้นที่ ที่คนรุ่นใหม่เลือกเป็นย่านที่พักอาศัย รัฐบาลเองก็มีการส่งเสริมให้เป็นเขตนวัตกรรมโดยมีทรูดิจิตัลพาร์คเป็นจุดเริ่ม
“ในเขตนี้มี รร.กทม.อยู่เยอะแต่กลับไม่มีพื้นที่การเรียนรู้ ด้วยการสนับสนุนของ สสส.และร่วมกับจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย มีการพูดคุยเพื่อพัฒนาย่านให้เป็นพระโขนง-บางนาโมเดล โดยดึงกลุ่มคนรุ่นใหม่มาช่วยพัฒนา มีภาคเอกชนเป็นแนวร่วม ชวนทุกฝ่ายผลักดันให้เป็นย่านที่น่าอยู่ขึ้นเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ยกตัวอย่างพื้นที่นำร่องสวน 15 นาที อย่างสวนที่ดินกรมธนารักษ์ พื้นที่ของกรมสรรพาวุธทหารเรือ และสวนผัก 15 นาที ที่มาจากพื้นที่ของเอกชน แต่เนื่องจากมีพื้นที่กว้าง ทำให้งบประมาณการพัฒนาไม่เพียงพอ จึงร่วมกับชุมชนในพื้นที่ปรับปลูกผักแทน เป็นต้น”

สวน 15 นาที ที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ในระยะ800 เมตร นอกจากจะช่วยจูงใจ กระตุ้นให้คนไทยลุกขึ้นมาออกกำลังกาย เพื่อให้หลุดพ้นจากการเป็นโรคในกลุ่ม NCDs ยังส่งเสริมสุขภาพจิต ส่งเสริมระบบนิเวศน์เมือง การเรียนรู้ ความสัมพันธ์ทางสังคม เศรษฐกิจในย่านนั้นไปพร้อมกันด้วย

**************

1696231471164.jpg

Email

Praphan