กทม. จับมือมูลนิธิเอเชีย จัดโครงการส่งเสริมการอ่านผ่านนิทานและการเล่น Let’s Read and Play ตั้งเป้าพัฒนาเด็กปฐมวัย
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย (ประถมศึกษา) เขตสายไหม กรุงเทพฯ พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมกับมูลนิธิเอเชีย ประเทศไทย และบริษัท โนมูระ สิงคโปร์ จำกัด ได้เดินทางมาเปิดตัว “โครงการ Let’s Read and Play (ประเทศไทย)” และเทศกาลรักการอ่านผ่านนิทานและการเล่น (Let’s Read and Play’s Reading Festival) ซึ่งเป็นกิจกรรมการอ่านในเด็กปฐมวัยระดับโรงเรียนและระดับครัวเรือน กระตุ้นให้พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยเหลือดูแล ร่วมเสริมสร้างทักษะการอ่าน และผลักดันให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ดำเนินการนำร่องที่ รร.ฤทธิยะวรรณาลัย (ประถมศึกษา) กทม. ซึ่งภายในงานมีคณะครูและผู้ปกครองได้นำบุตรหลาน มาเข้าร่วมงานกว่า 350 คน โดยรองปลัดกรุงเทพมหานครได้กล่าวว่า “ปัจจุบันต้องให้ความสำคัญกับเด็กปฐมวัย เนื่องจากยังมีเด็กปฐมวัยอีกมากมายที่ยังไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง ซึ่งขณะนี้อัตราการเกิดของเด็กน้อยลง ทุกคนควรร่วมมือกันดูแลเด็กปฐมวัยเหล่านี้อย่างมีประสิทธิ ภาพ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลมีทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพในอนาคต ซึ่งกิจกรรมในเรื่องของการอ่านการฟัง ไปสู่การเล่น ถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญ โดยการออกแบบกิจกรรมให้เด็กนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครอง คุณครู หรือพี่เลี้ยงที่ได้รับการอบรมจะเป็นองค์ประกอบ ซึ่งจะก่อให้เกิดพัฒนาการในด้านต่างๆ ได้อย่างมหัศจรรย์ โดยสามารถเริ่มได้จากที่บ้านแล้วมาต่อเนื่องที่โรงเรียน ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นและเกิดความเชื่อมโยงของระบบประสาทที่สำคัญ ทำให้มีพัฒนาการด้านต่างๆ โดยจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านในการประเมินติดตาม จัดเก็บรวบรวมข้อมูลพัฒนาการด้านการอ่านและการเรียน รู้ของเด็กปฐมวัยอย่างครบถ้วน รวมไปถึงการประเมินด้านจินตนาการของเด็กด้วย ทั้งนี้ขอเน้นย้ำว่าการอ่านเป็นทักษะสำคัญ ที่จะนำไปสู่พัฒนาการด้านต่างๆ ที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และทำให้เด็กมีความสุข มีความสนุกในการอ่าน จนนำไปสู่การปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน ที่จะเป็นฐานสำคัญในการดำเนินชีวิต โดยอาจจะใช้สื่อโซเชียลต่าง ๆ หรือเทคโนโลยีมาช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน แต่ต้องมีการป้องกันสื่อโซเชียลเหล่านี้อย่างถูกต้อง เพื่อทำให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ มีศักยภาพและความรู้ในการพัฒนาสังคมในอนาคต”
ด้าน น.ส.วรจรรย์ เนียมทรัพย์ ผู้จัดการโครงการ Let’s Read and Play มูลนิธิเอเชีย ประเทศไทย กล่าวว่า “โครงการฯ ได้จัดทำขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อให้เด็กสนใจในการเรียนรู้เรื่องราวรอบตัว ได้แง่คิดและความหลากหลายจากนิทานนานาชาติจากทุกมุมโลก มีพัฒนาการรู้หนังสือผ่านแนวคิดสมดุลทั้งภาษา ธรรมชาติและการอ่านออกเสียง เด็กจะได้พัฒนาทักษะทางภาษา การเข้าใจเรื่องราว การรู้จักพยัญชนะและการออกเสียง รู้จักคำศัพท์ใหม่ที่เชื่อมต่อไปกับความสามารถในการเริ่มต้นการอ่านและการเขียนตามวัย การส่งเสริมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สะเต็มสู่สตีมศึกษาผ่านการต่อยอดกิจกรรมที่หลากหลายจากนิทาน นับเป็นการเพิ่มพูนทักษะการเรียนรู้ที่โรงเรียนและที่บ้านผ่านนิทานที่มีเรื่องราวสนุกสนาน ไปพร้อมกับที่จะได้มีช่วงเวลาคุณภาพภายในครอบครัว โดยมี รศ.ดร.อรพรรณ บุตรกตัญญู ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัยและคณะนิสิตบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาปฐมวัยศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้คัดเลือกหนังสือนิทานภาษาไทยจากห้องสมุดนิทานดิจิทัล Let’s Read จำนวน 64 เรื่อง ที่มีเนื้อหาสอด คล้องกับสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ.2560 ของประเทศไทย มาออกแบบเป็นหลักสูตรและกิจกรรมส่งเสริมการอ่านเพื่อการเรียนรู้ที่โรงเรียน 32 สัปดาห์ที่เชื่อมโยงกับหน่วยการเรียนรู้ที่ครูจัดกิจกรรมในชั้นเรียน เหมือนกับที่คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองได้ใช้เวลาในอ่านนิทานและทำกิจกรรมกับลูกที่บ้าน มีการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ให้ผู้ปกครอง 10 ครั้ง ทุกเดือนตลอดปีการศึกษา ภายใต้การดำเนินการของบุคลากรครูปฐมวัยผู้นำกิจกรรมการเรียนรู้ และผู้ช่วยจำนวน 16 คน ที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นให้สามารถจัดกิจกรรมการอ่านเพื่อการเรียนรู้ได้อย่างมีเหมาะสมกับเด็กปฐมวัย และยังได้รับความช่วยเหลือจาก ดร.วีรภัทร์ สุขศิริ และคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินผล ได้รวบรวมข้อมูลพัฒนาการของเด็ก ตั้งแต่ก่อนเริ่มต้น จนถึงสิ้นสุดโครงการเพื่อนำไปวิเคราะห์วิจัย จัดทำรายงานการประเมินผลด้านการอ่านและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย เพื่อนำไปเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาขยายผลต่อไป”
สำหรับผู้ปกครองที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Let’s Read ซึ่งเป็นห้องสมุดนิทานดิจิทัล จาก Google Play ในแอนดรอยด์ และ App Store ในระบบ IOS ได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยภายในจะมีนิทานให้เยาวชนได้อ่านมากกว่า 10,000 เรื่อง จาก 59 ภาษา สอบถามรายละเอียดโทรศัพท์ 062-7341267 ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
**************
Praphan