แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ เปิดตัวโครงการให้ความรู้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจที่สามารถติดต่อได้ ภายใต้โครงการ #รู้ว่าเสี่ยง เลี่ยงเสียศูนย์ (#KnowMyRisk)
แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ หน่วยงานเครือข่ายพันธมิตรและชุมชนกลุ่มคนไข้ ได้แก่ ชมรมเบาหวานโรงพยาบาลจุฬาฯ ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย ชมรมผู้ป่วยมะเร็งแห่งประเทศไทย และชมรมผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ จัดทำโครงการ “ให้ความรู้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจที่สามารถติดต่อได้” ภายใต้โครงการ #รู้ว่าเสี่ยง เลี่ยงเสียศูนย์ (#KnowMyRisk) ภายใต้การสนับสนุนของ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในเรื่องการเฝ้าระวังตนเองการเข้าถึงการดูแลรักษา และการฟื้นฟูตนเองอย่างเหมาะสมแก่ประชาชนในกลุ่มเสี่ยงสูง
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า “การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ถือได้ว่าเป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก นับตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันที่ประชาชนต้องเผชิญกับสถานการณ์นี้ ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ รวมไปถึงระบบบริการสุขภาพที่ต้องปรับเปลี่ยนการให้บริการในการรักษาใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และถึงแม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะผ่อนคลายลง และเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว แต่การเฝ้าระวังตนเอง และการป้องกันยังคงเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด จากรายงานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยังคงพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 อันเกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส นอกจากนี้ยังพบอุบัติการณ์ของโรคจากระบบทางเดินหายใจที่สามารถติดต่อได้อื่น ๆ ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ และปอดอักเสบ ซึ่งเชื้อก่อโรคที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ เหล่านั้นมีความรุนแรงแตกต่างกันขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละคน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบางที่มีโอกาสสูงที่เกิดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อก่อโรคอันนำไปสู่โรคระบบทางเดินหายใจ ด้วยบทบาทของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่เป็นสื่อกลางทำงานร่วมกับองค์กรทางการแพทย์ต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชนในการพัฒนามาตรฐานการให้การรักษาพยาบาลรวมถึงการสาธารณสุขของประชาชนทั้งประเทศ ทั้งมุ่งเน้นเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการแพทย์ และสาธารณสุขแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถปฏิบัติตนให้ถูกต้อง ทั้งด้านการป้องกันและการรักษาโรค จึงยังคงเดินหน้าเตรียมความพร้อมอยู่เสมอในการรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที โดยโครงการ “รู้ว่าเสี่ยง เลี่ยงเสียศูนย์” เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือเพื่อประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นโครงการนำร่องที่ดี ทุก ๆ ภาคส่วนต้องเดินไปพร้อมกันทั้งความพร้อมของเครื่องมือ ความพร้อมของบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน และการได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้คนไทยได้เข้าถึงการดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด”
ด้าน ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานแพทยสมาคมฯ และนายกแพทยสภา เปิดเผยว่า “โครงการให้ความรู้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจที่สามารถติดต่อได้ อยู่ภายใต้โครงการ #รู้ว่าเสี่ยง เลี่ยงเสียศูนย์ (#KnowMyRisk) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ สร้างความเข้าใจ ให้รายละเอียดข้อมูลต่าง ๆ แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อสร้างความตระหนัก และทันต่อสถานการณ์ในเรื่องการเฝ้าระวัง ดูแลตนเอง การเข้าถึงการดูแลรักษาที่ถูกต้องจนไปถึงการฟื้นฟูตัวเองได้อย่างเหมาะสม สอดรับกับการเข้าสู่การดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่และเป็นการรองรับเฝ้าระวังการระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป โดยโครงการนี้ฯ ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากหน่วยงานเครือข่ายพันธมิตร และชุมชนกลุ่มคนไข้ ได้แก่ ชมรมเบาหวานโรงพยาบาลจุฬาฯ ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย ชมรมผู้ป่วยมะเร็งแห่งประเทศไทย (อาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ บายไอรีล) และชมรมผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ ภายใต้การสนับสนุนของ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้เตรียมแผนสนับสนุนกิจกรรมเพื่อการสื่อสารหลายรูปแบบ อาทิ การทำประชาสัมพันธ์ สื่อให้ความรู้ผ่านช่องทาง Social Media กิจกรรมสัญจรลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ทั้งในชุมชน สถานศึกษา องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น สาธารณสุขอำเภอ รพสต. อสม. อสส. เป็นต้น ทั่วประเทศ โดยในเดือนธันวาคมจะเริ่มโครงการให้ความรู้ฯ ในพื้นที่ชุมชน ได้แก่ กรุงเทพฯ และราชบุรี โดยจะขยายไปยังจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่ปี 2567 ในอีกหลายจังหวัดทั่วทุกภาค โดยหวังว่าการจัดกิจกรรมในครั้งนี้จะสามารถให้ความรู้ถึงกลุ่มเป้าหมายหลักได้ คือ ผู้ที่อยู่กลุ่มเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจที่สามารถติดต่อได้ หรือ กลุ่มเปราะบาง ให้สามารถเข้าถึงการป้องกันด้วยวัคซีน และเข้ารับการรักษาฟื้นฟูตนเองได้อย่างเหมาะสมตามแนวทางการดูแลรักษาโรค”
พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ยังคงเดินหน้าและพัฒนาระบบอย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อดูแลประชาชนผู้ใช้สิทธิให้ได้รับการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยในปี 2566 นี้ สปสช. ได้เดินหน้ายกระดับบัตรทองอย่างต่อเนื่อง โดยการเพิ่มสิทธิประโยชน์บริการให้กับผู้ใช้สิทธิบัตรทองมากขึ้น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุข อาทิ เพิ่มการเข้าถึงยารักษามะเร็ง และนโยบายผู้ป่วยโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ (Cancer Anywhere), เพิ่มการเข้าถึงบริการเบาหวานชนิดที่ 2, ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ สามารถเข้ารับการดูแลได้ตั้งแต่การตรวจคัดกรอง การให้คำปรึกษา บริการยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันทั้งก่อนและหลังการรับเชื้อ และบริการฟื้นฟูที่จำเป็นต่อการดูแล โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อดูแลสุขภาพให้กับคนไทยทุกคน และให้ได้รับสิทธิประโยชน์โดยทั่วถึง ครอบคลุมการรักษาได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และอยากให้คนไทยได้ตระหนักเห็นความสำคัญถึงการเป็นประชากรกลุ่มเสี่ยงฯ ซึ่งโครงการ #รู้ว่าเสี่ยง เลี่ยงเสียศูนย์ (#KnowMyRisk) ไม่เพียงแต่เป็นการสื่อสารให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลตนเองเท่านั้น แต่ยังทำให้รู้เท่าทันโรค รักษาได้ทันท่วงที ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าว ยังแสดงให้เห็นถึงพลังความร่วมมือจากหลายภาคส่วนซึ่งนำไปสู่การทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้มากขึ้น”
ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี อดีตนายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขา อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคระบบทางเดินหายใจ ในปัจจุบันว่า “โรคติดเชื้อทางเดินหายใจมีแนวโน้มแพร่ระบาดสูง โดยเฉพาะโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่อาการทั่วไปมักมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย โดยอาจพบอาการหายใจลำบาก โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ซึ่งได้แก่ ผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงเอชไอวี โรคมะเร็ง และการตั้งครรภ์ รวมถึงผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนก็จะมีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการรุนแรง สำหรับมาตรการการป้องกัน ทุก ๆ ภาคส่วน ยังคงเน้นย้ำให้ประชาชนเฝ้าระวัง และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ นอกจากนี้การฉีดวัคซีนยังความสำคัญ และมีประโยชน์ในการป้องกันการเกิดโรครุนแรง ดังนั้น จึงควรรับวัคซีน โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยรุนแรง โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ประจำปี และอีกโรคที่ยังต้องเฝ้าระวัง คือ ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเกิดจากเชื้ออินฟลูเอนซาไวรัส (Influenza virus) สามารถติดต่อโดยการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยที่ไอหรือจาม และการสัมผัสมือหรือการใช้สิ่งของ เครื่องใช้ต่าง ๆ ร่วมกับผู้ป่วย อาการมักมีไข้สูงเฉียบพลัน ไอ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เจ็บคอ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายได้เอง แต่ผู้ป่วยบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน และอาการรุนแรง เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัว เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ การป้องกันโดยทั่วไป คือ การล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำหรือสบู่ ไม่คลุกคลีหรืออยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย รวมถึงหลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ที่แออัด และการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี ทั้งนี้กรมควบคุมโรคแนะนำว่า ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนโควิด-19”
นอกจากนี้ภายในงานพบกับตัวแทนเครือข่ายพันธมิตร ชุมชนกลุ่มคนไข้ ที่มาร่วมพูดคุยถึงบทบาทการสร้างเครือข่าย พร้อมแชร์ประสบการณ์ตรงในฐานะผู้ป่วย นำทีมโดย คุณศุภลักษณ์ จตุเทวประสิทธิ์ ประธานชมรมเบาหวานโรงพยาบาลจุฬาฯ คุณอรวรรณ โอวรารินท์ ประธาน และผู้ร่วมก่อตั้งชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย คุณไอรีล ไตรสารศรี ผู้ก่อตั้งอาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ บายไอรีล และรองประธานชมรมผู้ป่วยมะเร็งแห่งประเทศไทย และ ผศ.นุชรินทร์ ศศิพิบูลย์ ประธานชมรมผู้ป่วยโรครูมาตอยด์
อนึ่ง โครงการให้ความรู้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจที่สามารถติดต่อได้ ภายใต้โครงการ #รู้ว่าเสี่ยง เลี่ยงเสียศูนย์ (#KnowMyRisk) เป็นหนึ่งในโครงการที่ริเริ่มและดำเนินการ โดยแพทยสมาคมฯ ซึ่งได้รับความร่วมมือร่วมใจจากหลากหลายภาคี โดยหวังว่าจะสามารถส่งผลสำเร็จ รวมถึงสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชน ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจที่สามารถติดต่อได้ รวมถึงกลุ่มเปราะบาง ได้เข้าถึงการรักษา และเข้ารับวัคซีนได้อย่างเหมาะสม เพื่อลดความรุนแรงของโรค และลดการเสียชีวิต
MT