สสว. ร่วมให้ความรู้ SMEs ไทย ในเวที Digital SME Conference Thailand 2024
จบกันไปเป็นที่เรียบร้อยกับงาน Digital SME Conference Thailand 2024 โดยปีนี้ได้รับเกียรติและโอกาสจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มาร่วมเป็นผู้สนับสนุนเพื่อส่งเสริม และผลักดันให้ SMEs ไทยที่จะก้าวไปได้อย่างแข็งแรง โดย สสว. มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการรายย่อยขยายธุรกิจจากขนาดเล็กเป็นขนาดกลาง และจากกลางสู่ขนาดใหญ่ต่อไป เพราะ SMEs คือรากฐานที่แท้จริง
งานนี้ได้รับเกียรติจาก คุณวรพจน์ ประสานพานิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ขึ้นกล่าวให้ความรู้เกี่ยวกับกลุ่มการตลาดของ SMEs อีกทั้งยังได้แนะแนวทางการช่วยเหลือ ข้อมูล และเครื่องมือที่จะให้ผู้ประกอบการ SMEs ต่างๆ นำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโต รวมถึงยังมีโอกาสได้รับเงินสนับสนุน และการเข้าถึงหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้น
คุณวรพจน์ กล่าวถึงบทบาทการผลักดันจากรัฐบาลในการผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐปัจจุบันสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการติดต่อและเข้าถึงหน่วยงานได้สะดวกขึ้น และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก ต่อยอดการให้บริการให้ดียิ่งขึ้นในยุคที่ดิจิทัลเป็นบทบาทสำคัญ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆ ขึ้นมา โดยมีการใช้งานที่แตกต่างกันอยู่หลักๆ ได้แก่ SME ONE, SME Academy 365, SME Coach, Thai SME-GP และ SME Connect ทั้งนี้หากผู้ประกอบการ SMEs ท่านไหนสนใจที่อยากจะสมัคร หรือการขอเงินทุนในการต่อยอดธุรกิจก็ยังที่จะเข้าไปสมัครหรือเรียนรู้ได้ที่ bizportal.go.th
ในส่วนของตัวเลขผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศไทยปัจจุบัน ถ้ารวมผู้ประกอบการทุกขนาดตั้งแต่ Micro ไปจนถึง Medium พบว่า มีจำนวนผู้ประกอบการมากกว่า 3,225,743 ธุรกิจ คิดเป็น GDP ในปี 2566 มากถึง 6,317,181 บาท หรือคิดเป็น GDP (มูลค่า %) ที่ SMEs สร้างได้ ถึง 35.2%
นั่นแสดงให้เห็นถึงพละกำลังของผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศไทยที่ทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ มุ่งเน้นที่ให้ความสำคัญ และส่งเสริมให้เติบโตอย่างมั่นคง อีกทั้งยังสามารถออกไปสู่เวทีสากลได้อย่างภาคภูมิใจ และยังมีโครงการและมาตรการการช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS สัดส่วนการให้การอุดหนุนตามขนาดของธุรกิจที่ทาง สสว. นั้นจะเป็นการอุดหนุนค่าใช้จ่ายแบบร่วมจ่าย (Co-payment) เป็นสัดส่วนตามขนาดของธุรกิจตามนิยาม SME
คุณวรพจน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การมาของ COVID-19 กลายเป็นตัวเร่งให้พฤติกรรมของคนทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้ประกอบการ SMEs เพราะก่อนหน้านี้จะมีผู้ประกอบการบางส่วนที่มักจะทําธุรกิจของตัวเองไปเรื่อยๆ เพราะว่ามันยังคงอยู่ได้ แต่พอ COVID-19 เข้ามาและผ่านไป รูปแบบธุรกิจดั้งเดิมได้รับผลกระทบทั้งหมด ในเรื่องของการทําการตลาดและเรื่องของการขายของ
“โจทย์ใหม่สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องตอบผู้ซื้อ คือตอนนี้ผู้ซื้อมีความหลากหลายสูงมาก สิ่งที่ SMEs ต้องทําก็คือต้องตอบให้ได้ว่าสินค้าของเราตอบโจทย์ความต้องการอยู่หรือไม่ จะมีคนซื้อสินค้าของเราไหม อันนั้นคือสิ่งที่เราสสว. เคยถามกับ SMEs เพราะฉะนั้นถ้าผู้ประกอบการคิดว่าตัวเองสู้ไม่ได้ต้องปรับตัว แต่จะเริ่มปรับตัวอย่างไร สสว.เรามีโซลูชั่น มีงานบริการต่างๆ เป็นแพลตฟอร์มให้บริการในเรื่องของการที่จะแนะนํา สนับสนุนในการปรับเปลี่ยนธุรกิจของตัวเอง หรือจะยกระดับในเรื่องของธุรกิจของตัวเองที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้นโดยใช้เทคโนโลยี เราสามารถทําได้หมด
ที่สําคัญ สสว.เราไม่ทํางานคนเดียว เราทํางานร่วมกับทุกกระทรวง ทบวง กรมในการสนับสนุนส่งเสริม SMEs เช่น ถ้าอยากจะเข้าร่วมในงานการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เรามีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่จะแนะนําและส่งต่อ
ปัจจุบัน สสว. ทำงานแบบเน้นการเชื่อมต่อกันมากขึ้นเพราะว่าอย่างที่บอกว่าทุกหน่วยงานไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นถ้า SMEs ต้องการในเชิงเชี่ยวชาญพิศษ เราก็สามารถส่งต่อได้เพราะปัจจุบันการทํางานของเราในระดับภาครัฐแน่นแฟ้นมากขึ้น มีการเชื่อมโยงข้อมูลในระบบมากขึ้นทําให้การส่งต่อข้อมูลหรือส่งต่อผู้ประกอบการทําได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อธิบายเพิ่มเติมว่า ในภาพใหญ่ SMEs ส่วนมากวุ่นวายกับการทําธุรกิจของตัวเองในแต่ละวันอยู่แล้ว บางทีผู้ประกอบการก็ไม่สะดวกที่จะติดต่อเข้ามาในเวลาราชการ แต่พอสสว. เปิดข้อมูลในลักษณะของการเชื่อมโยงที่ให้ SMEs สามารถที่จะติดต่อเราได้ตลอดเวลา เช่น พิมพ์เข้ามาในแชตบอท หรือในเว็บบอร์ดของเรา ซึ่งตรงนี้ทําให้สสว. สามารถเข้าถึง SMEs ได้มากขึ้นกว่าเดิมมาก
คุณวรพจน์ ย้ำว่าโอกาสของ SMEs ในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียังมีอีกมากมาย ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองเห็นก่อนกัน
“อย่างที่บอกว่าทุกวิกฤตเนี่ยจะมีโอกาสเสมอกับทุกสาขาธุรกิจหรือสาขาอุตสาหกรรม แน่นอนว่า COVID-19 ส่งผลกระทบรุนแรงมาก แต่ถ้าให้มองดีๆ บางธุรกิจบางอุตสาหกรรมสามารถที่จะใช้โอกาสของการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ ตัวอย่าง เช่น มีผู้ประกอบการที่ขายเสื้อยืด ซึ่งหลายคนมองว่าน่าจะเป็นขาลง แต่บางผู้ประกอบการสามารถใช้โอกาสการเปลี่ยนแปลงมาเน้นทำธุรกิจแบบดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งจนสามารถที่จะขยายตลาดสร้างยอดขายหลัก 100 ล้านบาท ได้ภายในเวลาไม่กี่ปี เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทําก็คือ มองหาช่องว่างที่มาตอบโจทย์ Customer Pain Point ให้ได้ว่าคืออะไร ถ้าเราตอบโจทย์ได้นั่นหมายความว่าเราเจอโอกาสทางธุรกิจที่จะขับเคลื่อนต่อธุรกิจของเราต่อได้”
ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ 3 ล้านราย ในจำนวนนี้เป็น SMEs ที่อยู่ในระบบหรือขึ้นทะเบียนกับสสว.ประมาณ 300,000 ราย หรือ 10% เท่านั้น เราต้องการที่ให้ SMEs เข้าถึงเราและเราเข้าหา SMEs ได้มากที่สุด หมายความว่าเราต้องกระตุ้นให้ผู้ประกอบการทั้ง 3 ล้านรายเข้าหาเราให้ได้มากที่สุด สสว.ก็ต้องสร้างสิทธิประโยชน์ให้ทำผู้ประกอบการรู้สึกว่าเข้ามาแล้วได้ประโยชน์ ตรงนี้คือหน้าที่ของสสว. ที่ต้องทํา
“สำหรับ SMEs ที่ยังกล้าๆ กลัวๆ ภาครัฐเราเองมีความท้าทายเรื่องหนึ่ง คือการสร้างความน่าเชื่อถือ ความมั่นใจ หรือ Trust สิ่งที่ผมทํางานกับสสว.มามากกว่า 15 ปี ผมเรียนรู้อย่างหนึ่งจากการที่ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการจํานวนหลายพันคนพบว่า ผู้ประกอบการที่ประสบความสําเร็จทุกคน อย่างน้อยจะเคยเข้าร่วมงานสนับสนุนจากภาครัฐหนึ่งครั้งเสมอ จริงๆ ภาครัฐเป็นเสมือนเป็นบันไดที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเติบโตได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวในการที่จะเข้ามา ผมอยากจะกระตุ้นให้ SMEs เดินเข้ามาหาภาครัฐ เราพร้อมจะจับมือท่านแล้วส่งเสริมท่านเดินไปด้วยกัน ภาครัฐเองยินดีทําทุกอย่างที่จะช่วยเหลือสนับสนุนทุกคน”
เมื่อถูกถามถึงความท้าทายของสสว. ในปัจจุบัน คุณวรพจน์ อธิบายว่า ความท้าทายสสว. อย่างแรก คือต้องทำให้ผู้ประกอบการ SMEs เชื่อมั่นในตัวสสว.ว่า สสว.จะเป็นพาร์ทเนอร์ นั่นหมายความว่าสิ่งที่สสว. ทําคือส่งเสริมไม่ได้ทําในเรื่องของการติดตาม หรือตรวจสอบ สิ่งที่ท้าทายคืออยากกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบการส่งเสริมของสสว.
“ปัจจุบันมีเทคโนโลยีดิจิทัล ผู้ประกอบการสามารถเข้าสู่ระบบผ่านทางช่องทางนี้ มีผู้ประกอบการบางรายมักจะส่งไลน์หรือว่าส่งคําถามมาหาเราในช่วงเวลาดึกๆ ตีหนึ่ง ตีสอง นั่นหมายความว่าทุกคนมีช่วงเวลาว่างที่ไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นในอดีตการส่งเสริมของภาครัฐหรือการทํางานของภาครัฐมันจํากัดด้วยเวลาราชการ แต่ปัจจุบันนี้มันถูกทําลายไปแล้วด้วยระบบดิจิทัล
เรื่องที่ 2 คือเราก็ต้องเร่งพัฒนาให้ผู้ประกอบการเข้าหาเราให้สะดวกที่สุดเท่าที่จะทําได้เช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นความท้าทายที่สสว. เราพยายามพัฒนาอยู่ตามนโยบายรัฐบาลดิจิทัลของรัฐบาล”
nitiroj