ADVERTISEMENT

หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์เผยนักเรียนไทยและนักเรียนต่างชาติให้ความสนใจเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศนิวซีแลนด์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยหลังจากเปิดประเทศ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา เพิ่มสูงขึ้นกว่า 25%

นิวซีแลนด์ ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางแห่งการศึกษาอันดับต้นๆของโลก และเป็นเป้าหมายทางการศึกษาของนักเรียนไทยและนักเรียนนานาชาติจากทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ เพราะด้วยจุดเด่นของระบบการศึกษานิวซีแลนด์ที่เปิดกว้างทางการศึกษา มีมาตรฐานติดอันดับโลก ทำงานได้ระหว่างเรียนและหลังจบการศึกษายังสามารถต่อวีซ่าทำงานหลังเรียนจบได้สูงสุดถึง 3 ปี อีกทั้งยังได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีความปลอดภัย ผู้คนเป็นมิตร สภาพแวดล้อมเหมาะแก่การศึกษา โดยล่าสุด นิวซีแลนด์ได้จัดอันดับเป็น “ประเทศที่มีความปลอดภัยเป็นอันดับที่ 2 ของโลก” จากการจัดอันดับประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก ประจำปี 2022 ของ CS Global Partners

นอกจากนี้ การศึกษาของนิวซีแลนด์ ยังมีความโดดเด่นทางด้านหลักสูตรเทคโนโลยีดิจิทัลที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานโลก และตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น หลักสูตรการพัฒนาเอไอ (AI), หลักสูตรการสร้างเกมส์ เทคโนโลยีแฟชั่นดิจิทัล (Digital Fashion Technology) ออกแบบเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital and Design) วิทยาศาสตร์สุขภาพด้านสุขภาพดิจิทัล (Health Sciences in Digital Health), นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) และ การตลาดดิจิทัล (Digital Ubiquitous Marketing)

นายกรานท์ แมคเฟอร์สัน (Mr. Grant McPherson) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ (Education New Zealand; ENZ) ประเทศนิวซีแลนด์ เปิดเผยว่า ตลาดการศึกษานานาชาติในภูมิภาคเอเชียมีศักยภาพการเติบโตสูง โดยประเทศที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของนิวซีแลนด์ในการดึงดูดนักเรียนต่างชาติให้มาศึกษาในประเทศในนิวซีแลนด์ 5 อันดับประเทศในทวีปเอเชียที่ส่งนักเรียนไปศึกษาต่อในประเทศนิวซีแลนด์ ได้แก่ จีน, อินเดีย, เกาหลีใต้, เวียดนาม และ ไทย อยู่อันดับ 5

โดยจากข้อมูลเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 มีจำนวนนักเรียนต่างชาติที่ถือวีซ่านักเรียน (ที่ยังไม่หมดอายุ) ในประเทศนิวซีแลนด์ จำนวนทั้งสิ้น 16,959 คน จากทั้งหมด 126 ประเทศ ในจำนวนนี้ มีนักเรียนไทย 840 คน

จากข้อมูลของหน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบันมีนักเรียนไทยให้ความสนใจลงทะเบียนไปศึกษาต่อที่ประเทศนิวซีแลนด์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกว่า 25% เมื่อเทียบกับจำนวนนักเรียนไทยที่ถือวีซ่านักเรียน (ที่ยังไม่หมดอายุ) ในประเทศนิวซีแลนด์ในช่วงเดือนกรกฏาคม พ.ศ.2565 และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังจากการเปิดประเทศของนิวซีแลนด์เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยนักเรียนไทยส่วนใหญ่กว่า 47% ที่ลงทะเบียนไปเรียนที่นิวซีแลนด์นั้นไปเรียนในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งเป็นระดับการศึกษาที่นักเรียนไทยสนใจไปเรียนต่อนิวซีแลนด์มากที่สุด รองลงมาคือ โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ และระดับอุดมศึกษา

ทั้งนี้ การศึกษานิวซีแลนด์ได้มุ่งส่งเสริมความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างประเทศ และเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาของไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับโรงเรียน (ระดับมัธยมศึกษา) และระดับอุดมศึกษา ร่วมกับสถาบันการศึกษาของไทยทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ โครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (RMUTT) และมหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรเตรียมความพร้อมปริญญาตรีไฮบริดนิวซีแลนด์ (Business Foundation Studies Programme) เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสให้นักเรียนไทยสามารถต่อปริญญาตรีแบบไฮบริดกับมหาวิทยาลัยระดับโลกของนิวซีแลนด์

รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (RMUTT) เปิดเผยว่า โครงการความร่วมมือระหว่าง RMUTT กับ มหาวิทยาลัยโอทาโก เป็นการร่วมกันพัฒนาหลักสูตรเร่งรัดสำหรับนักเรียนไทยโดยเฉพาะ เป็นหลักสูตรปรับพื้นฐานด้านธุรกิจ (Business Foundation Studies Programme) หลักสูตรเรียนเตรียมปริญญาปี 1 นิวซีแลนด์ที่ประเทศไทย 8 เดือน (เทียบเท่าป.ตรีปี 1) หลังจากจบหลักสูตรเร่งรัดแล้วสามารถเรียนจบป.ตรีนิวซีแลนด์ได้ใน 3 ปี ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้นักเรียนไทยของเราสามารถสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาในนิวซีแลนด์ได้เร็วขึ้น

นอกจากความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรปริญญาตรีไฮบริดนิวซีแลนด์แล้ว ที่ผ่านมาทาง RMUTT ยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆในประเทศนิวซีแลนด์ ผ่านสถานทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทยในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ไทย-นิวซีแลนด์ (TNZC) ที่ศูนย์นวัตกรรมและความรู้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีที่ DD Mall เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เพื่อเชื่อมโยงการศึกษาระหว่างการศึกษาไทยกับการศึกษานิวซีแลนด์ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาในระดับนานาชาติให้นักเรียนไทยอีกด้วย

ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษานิวซีแลนด์ ดูได้ที่ www.studywithnewzealand.govt.nz

DSC411.JPG

Email

PR_News

By PR_News