ADVERTISEMENT

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล อิตาลี (WWF Italy), องค์กรเรนฟอเรสต์ คอนเนกชัน (Rainforest Connection) และหัวเว่ย อิตาลี (Huawei Italy) ประกาศขยายความร่วมมือในโครงการอนุรักษ์พื้นที่ เนเจอร์ การ์เดียน (Nature Guardian) ซึ่งความร่วมมือในเฟสที่สองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของการเกษตรที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพในอิตาลี โดยใช้เทคโนโลยีการตรวจสอบด้วยเสียงที่เป็นนวัตกรรมใหม่

อุปกรณ์อาร์เอฟซีเอ็กซ์ ออดิโอมอธ (RFCx AudioMoth) แบบออฟไลน์จำนวน 24 เครื่อง ได้รับการติดตั้งเพื่อบันทึกเสียงของสัตว์สายพันธุ์ต่าง ๆ เป็นระยะเวลากว่า 12 เดือน ในระบบนิเวศเกษตร 8 แห่ง ได้แก่ วัลเล เดลโล สปอเรกจิโอ (Valle dello Sporeggio), บอสโก ดิ วานซาโก (Bosco di Vanzago), กิราร์ดี (Ghirardi), ริปาเบียงกา ดิ เจซี (Ripabianca di Jesi), คาลันชี ดิ อาตรี (Calanchi di Atri), เลค เพนเน (Lake Penne), มอนเต แซงต์เอเลีย (Monte Sant’Elia) และ เลค พรีโอลา/กอร์กี ทอนดิ (Lake Preola/Gorghi Tondi)

ข้อมูลที่รวบรวมมาได้จะถูกส่งไปยังแพลตฟอร์มคลาวด์ของหัวเว่ยเพื่อทำการวิเคราะห์โดยเครื่องมืออาร์บิมอน (Arbimon) ของเรนฟอเรสต์ คอนเนกชัน ซึ่งมาพร้อมฟังก์ชันการวิเคราะห์ที่ได้รับการฝึกฝนให้รู้จักเสียงของสัตว์สายพันธุ์เป้าหมาย จากนั้นข้อมูลเชิงลึกที่ไม่อาจได้มาด้วยวิธีทั่วไปจะถูกนำมาใช้เพื่อศึกษาลักษณะเฉพาะและแนวโน้มของความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศเกษตร รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างแนวทางการทำเกษตรรูปแบบต่าง ๆ กับการอนุรักษ์ธรรมชาติ

“ด้วยการขยายความร่วมมือกับหัวเว่ยและเรนฟอเรสต์ คอนเนกชัน เราจะเดินหน้าทำการสำรวจเชิงชีวอะคูสติก ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถเปรียบเทียบความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่เกษตรภายในโอเอซิสขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF Oasis) ที่ทำเกษตรแบบอินทรีย์ กับพื้นที่เกษตรอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงซึ่งทำเกษตรแบบดั้งเดิม” คุณเบเนเดตตา แฟลมมินี (Benedetta Flammini) ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการสื่อสารขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล อิตาลี กล่าว

การเกษตรเชิงอุตสาหกรรมแบบเข้มข้นส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก โดยในปี 2564 โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environmental Program หรือ UNEP) รายงานว่า ระบบอาหารทั่วโลกเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยภาคการเกษตรเพียงอย่างเดียวมีส่วนรับผิดชอบต่อ 86% ของภัยคุกคามระดับสูญพันธุ์ที่สิ่งมีชีวิต 28,000 สายพันธุ์กำลังเผชิญอยู่ นอกจากนี้ 80% ของการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลก รวมถึง 60% ของการใช้น้ำจืด และ 23% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยังเป็นผลมาจากภาคการเกษตรอีกด้วย

คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ตระหนักดีว่าความหลากหลายทางชีวภาพในภาคการเกษตรกำลังลดลงในสหภาพยุโรป จึงตอบสนองด้วยนโยบายการเกษตรร่วมกัน เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสายพันธุ์ แหล่งที่อยู่อาศัย และภูมิทัศน์ที่พบในระบบนิเวศพื้นที่เพาะปลูกของสหภาพยุโรป

โครงการนี้มีความสอดคล้องกับโครงการฟู้ดฟอร์ฟิวเจอร์ (Food4Future) ขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล โครงการเทคฟอร์ออล (TECH4ALL) ของหัวเว่ย และนโยบายของคณะกรรมาธิการยุโรป โดยข้อมูลเชิงลึกของโครงการจะเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในอนาคตสำหรับการเกษตรแบบยั่งยืน รวมทั้งสร้างสมดุลระหว่างความต้องการของธรรมชาติกับคน และส่งเสริมระบบการจัดหาอาหารที่มีความยืดหยุ่น ทั่วถึง ยั่งยืน และสมบูรณ์มากขึ้น

“หัวเว่ยยอมรับวัตถุประสงค์ของนโยบายกรีนดีล (European Green Deal) และยุทธศาสตร์จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to Fork Strategy)” คุณวิลสัน หวัง (Wilson Wang) ซีอีโอของหัวเว่ย อิตาลี กล่าว “เรานำเสนอเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนวัตถุประสงค์เหล่านี้ เพราะต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนมากขึ้น ตลอดจนรักษาความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของอิตาลีในแง่ของสัตว์ป่าและที่อยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมการเกษตร”

ตั้งแต่เทือกเขาแอลป์ไปจนถึงแคว้นซิซิลี พื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกในเฟสที่สองของโครงการเนเจอร์ การ์เดียน ประกอบด้วยสวนแอปเปิล ไร่องุ่น สวนมะกอก สวนส้ม ทุ่งข้าวสาลี รวมถึงพื้นที่ปลูกธัญพืชและผัก

โครงการเนเจอร์ การ์เดียน เฟสแรก เปิดตัวในปี 2564 ครอบคลุมพื้นที่โอเอซิสขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลที่ได้รับการคุ้มครอง 3 แห่งในอิตาลี ได้แก่ ทะเลสาบบูราโน (Lake Burano) บึงออร์เบเทลโล (Orbetello Lagoon) และปล่องภูเขาไฟแอสโตรนี (Astroni Crater) โดยอุปกรณ์ออดิโอมอธแบบออฟไลน์ 45 เครื่อง และอุปกรณ์การ์เดียนแบบออนไลน์ 10 เครื่อง ถูกนำไปติดตั้งเพื่อศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพและตรวจจับกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การบุกรุกเข้าไปล่าสัตว์ การขี่มอเตอร์ไซค์วิบากโดยไม่ได้รับอนุญาต และการตัดไม้ทำลายป่า จนถึงตอนนี้ ผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นไปในเชิงบวก โดยระบบสามารถระบุนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 49 สายพันธุ์ และแจ้งเตือนกิจกรรมที่อาจผิดกฎหมายแบบเรียลไทม์ได้ถึง 2,000 ครั้ง นำไปสู่การตรวจสอบภาคสนามมากกว่า 30 ครั้ง ซึ่งหนึ่งในนั้นส่งผลให้ตำรวจอิตาลีและองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลสามารถเข้าทำลายอุปกรณ์ล่าสัตว์ในเดือนธันวาคม 2564

เกี่ยวกับโครงการเทคฟอร์ออลของหัวเว่ย

เทคฟอร์ออล (TECH4ALL) คือโครงการริเริ่มระยะยาวของหัวเว่ยเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัลและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังในโลกดิจิทัล โดยมุ่งเน้นไปที่ 4 ส่วนหลัก ได้แก่ การศึกษาที่เสมอภาคและมีคุณภาพ การอนุรักษ์ธรรมชาติด้วยเทคโนโลยี การดูแลสุขภาพอย่างครอบคลุมทั่วถึง และการพัฒนา

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์โครงการเทคฟอร์ออลของหัวเว่ย https://www.huawei.com/en/tech4all

ติดตามความเคลื่อนไหวทางทวิตเตอร์ https://twitter.com/HUAWEI_TECH4ALL

รูปภาพ – https://mma.prnewswire.com/media/1965240/An_AudioMoth_edge_device_installed_a_fruit_farm.jpg
คำบรรยายภาพ – อุปกรณ์ออดิโอมอธที่ติดตั้งในสวนผลไม้

3731679.jpg

Email

media123