อินโดนีเซียจัดการประชุมอาเซียนเพื่อผู้พิการ ประจำปี 2566
อินโดนีเซียจัดการประชุมอาเซียนเพื่อผู้พิการ ประจำปี 2566 ประกาศข้อเสนอแนะมากัซซาร์ มุ่งยกระดับการดูแลผู้พิการ
การประชุมอาเซียนเพื่อผู้พิการ (ASEAN Disability Forum) ได้ประกาศ “ข้อเสนอแนะมากัซซาร์” (Makassar Recommendations) เพื่อผลักดันความมุ่งมั่นในการเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้พิการ โดยมุ่งสร้างความเสมอภาคและยกระดับศักดิ์ศรีของผู้พิการ ข้อเสนอแนะนี้มีขึ้นในการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงอาเซียน ว่าด้วยการพัฒนาที่ครอบคลุมผู้พิการและความร่วมมือหลังปี 2568 (ASEAN High Level Forum on Disability Inclusive Development and Partnership beyond 2025) ณ เมืองมากัซซาร์ เมื่อวันที่ 10-12 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา
ข้อเสนอแนะดังกล่าวถูกส่งมา หลังจากที่ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมการประชุมนี้โดยมีอินโดนีเซียรับหน้าที่เป็นผู้นำ ได้จัดทำร่างข้อเสนอแนะขึ้นมา การประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 ราย เป็นหนึ่งในการประชุมสุดยอดอาเซียนภายใต้การดูแลของอินโดนีเซียในฐานะประธาน ซึ่งนอกเหนือจากประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว การประชุมนี้ยังมีผู้เข้าร่วมจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย ตลอดจนจากสำนักเลขาธิการอาเซียน องค์กรดูแลผู้พิการ การประชุมอาเซียนเพื่อผู้พิการ และพันธมิตรรายอื่น ๆ อีกมากมาย
ผู้เข้าร่วมการประชุมนี้ได้ร่วมกันกำหนดกลยุทธ์ที่มีความแปลกใหม่ เพื่อก่อให้เกิดความครอบคลุมทางสังคมและภูมิภาค เพิ่มศักยภาพให้กับผู้พิการ และเสริมสร้างความร่วมมือ การประชุมครั้งนี้คาดหวังว่า อาเซียนจะกลายเป็นศูนย์กลางของความเสมอภาคที่เติบโตอย่างยั่งยืน
หลังจากที่ได้ใช้เวลาคิดถึง 2 วัน ในที่สุดก็ได้คำแนะนำมา 10 ข้อ หรือที่เรียกว่า “ข้อเสนอแนะมากัซซาร์” โดยมีเอกา ปราทามะ (Eka Pratama) กรรมาธิการคณะกรรมการกิจการผู้พิการแห่งชาติ (KND) เป็นผู้อ่านข้อเสนอแนะดังกล่าว ก่อนปิดการประชุมเมื่อวันพุธที่ 11 ตุลาคม 2566
ข้อเสนอแนะทั้ง 10 ข้อ มีดังนี้
ประการแรก เร่งดำเนินการตามแผนแม่บทส่งเสริมอาเซียน (ASEAN Enabling Masterplan) พ.ศ. 2568 โดยผนวกรวมสิทธิของผู้พิการในความร่วมมือของอาเซียน
ประการที่สอง สนับสนุนการทบทวนและรายงานผลการดำเนินงานตามแผนแม่บทส่งเสริมอาเซียน พ.ศ. 2568 โดยเปิดโอกาสให้ผู้พิการเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
ประการที่สาม ผลักดันการพัฒนาที่ครอบคลุมผู้พิการ โดยเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community Vision) พ.ศ. 2588
ประการที่สี่ ส่งเสริมคู่เจรจาของอาเซียนในการเสริมศักยภาพและสิทธิของผู้พิการ ผ่านความร่วมมือกับอาเซียน รวมทั้งในการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมผู้พิการ
ประการที่ห้า จัดให้มีนโยบายสวัสดิการสังคมและการพัฒนาที่เป็นนวัตกรรมใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพและปกป้องสิทธิของผู้พิการ
ประการที่หก ยกระดับความพยายามเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พิการมีส่วนร่วมและเข้าถึงบริการสาธารณะได้อย่างเท่าเทียม และขจัดอุปสรรคในการถูกตีตราและเลือกปฏิบัติ เช่น การศึกษา สุขภาพ การจ้างงาน
ประการที่เจ็ด เสริมสร้างความพยายามในการให้ข้อมูลด้านความพิการที่ดีและครอบคลุมมากขึ้น
ประการที่แปด เสริมสร้างการเข้าถึงเทคโนโลยีสนับสนุนตามความเหมาะสม เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการศึกษา การดูแลสุขภาพ การจ้างงาน และความเป็นผู้ประกอบการอย่างเสมอภาค
ประการที่เก้า เสริมสร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับผู้พิการและสิทธิของผู้พิการ รวมถึงการกำจัดความคิดลบ ๆ และส่งเสริมความเคารพและความเข้าใจซึ่งกันและกัน
ประการที่สิบ สนับสนุนให้ภาคธุรกิจส่งเสริมและดำเนินการรูปแบบธุรกิจและห่วงโซ่คุณค่าที่คำนึงถึงผู้พิการ ตลอดจนสนับสนุนให้ผู้พิการเข้าถึงการจ้างงานได้ดีขึ้น รวมถึงในฐานะผู้ประกอบการด้วย
นอกเหนือจากข้อเสนอแนะทั้ง 10 ข้อแล้ว ผู้เข้าร่วมการประชุมจากประเทศในกลุ่มอาเซียนยังแสดงความขอบคุณรัฐบาลอินโดนีเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงกิจการสังคมที่ได้จัดการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงอาเซียนด้วย
ไม่ทอดทิ้งผู้พิการ
คุณตรี ริสมหารินี (Tri Rismaharini) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสังคมของอินโดนีเซีย กล่าวปิดงานว่า ความครอบคลุมผู้พิการเป็นแนวทางหนึ่ง ซึ่งเป็นมุมมองที่ต้องกลายเป็นกระแสหลักในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา สุขภาพ การจ้างงาน ความมั่นคงทางการเมือง การค้า และการลงทุน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสังคม กล่าวว่า “การพัฒนาที่ครอบคลุมผู้พิการต้องอาศัยความร่วมมือ ไม่ใช่แยกกันทำงาน โดยภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรดูแลผู้พิการ จำเป็นต้องจับมือทำงานร่วมกัน”
รัฐมนตรีกระทรวงกิจการสังคมยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างความพร้อมของข้อมูลด้านผู้พิการ เพื่อให้กำหนดนโยบายและมาตรการแทรกแซงที่เหมาะสมได้ ทั้งยังเน้นย้ำว่าการเป็นผู้ประกอบการและการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นความพยายามที่แท้จริง ในการเสริมศักยภาพและเพิ่มความเป็นอิสระให้กับผู้พิการ
รัฐมนตรีกระทรวงกิจการสังคมยังกล่าวถึงอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันว่า “ทุกฝ่ายจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ของประชาชน เพื่อไม่ให้ประชาชนมองว่าความพิการเป็นอุปสรรค สังคมจะเห็นว่าผู้พิการมีส่วนร่วมและมีบทบาทสำคัญในสังคมได้เช่นกัน”
คุณเทนดี กูนาวัน (Tendi Gunawan) จากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในกรุงจาการ์ตา เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ผู้พิการยังคงถูกเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน อย่างไรก็ตาม หากได้รับโอกาส ผู้พิการก็มีความสามารถเช่นเดียวกัน
ด้านคุณอังกี ยูดิสเทีย (Angkie Yudistia) เจ้าหน้าที่พิเศษประจำประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า ผู้พิการทุกคนดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ โดยกล่าวว่า “ทุกฝ่ายจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน เพื่อให้โอกาสและวางใจให้ผู้พิการได้ทำงาน”
Media123