เตรียมความพร้อมองค์กรเข้าสู่ยุค AI Transformation TMA ร่วมกับ depa (ดีป้า) จัดงาน Digital Dialogue 2024 กับองค์ความรู้เทคโนโลยีดิจิทัลและ AI ให้ธุรกิจไม่ตกขบวนการแข่งขัน
กรุงเทพฯ/ 6 กุมภาพันธ์ 2567 – ถ้าปีที่ผ่านมาคือปีที่องค์กรต่าง ๆ เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ปีนี้คือช่วงเวลาเตรียมความพร้อมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค AI เพื่อตอบโจทย์ที่สำคัญยิ่งนี้ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) โดยกลุ่ม Digital Technology Management Group ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ได้จัดงาน Digital Dialogue 2024 – AI Mastery, The Implementation for Business and Smart City นำเสนอดิจิทัลเทคโนโลยี และ AI ในเชิงกว้างและลึกในเรื่องสำคัญ ๆ ที่ผู้บริหารต้องรู้ โดยโฟกัสที่เทคโนโลยี AI ที่กำลังมีบทบาทสำคัญในหลากหลายธุรกิจ พร้อมกระตุ้นให้องค์กรทั้งภาคเอกชนและภาครัฐเริ่มก้าวแรก ในการนำ AI ไปร่วมกระบวนการทำงาน ให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งใช้สร้างสรรค์สินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของตลาด และเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตผู้คนให้ดีขึ้น
AI Frontier: ขอบเขต AI กับการใช้งานหลากหลายมิติ
ปัจจุบัน เทคโนโลยี AI มีการนำไปประยุกต์ใช้งานกันอย่างแพร่หลายและพัฒนาเติบโตอย่างรวดเร็ว อย่าง Chat GPT ที่เป็น Gen AI ที่ถือว่ามีการเติบโตเร็วที่สุด และกลายมาเป็น Game Changer ที่สร้างประโยชน์ในเชิงธุรกิจมากมาย ในด้านการตลาด AirBNB ใช้ Gen AI ทำ Hyper-personalized campaigns เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละรายได้เร็วขึ้น 5-10 เท่า ด้านโลจิสติกส์และขนส่ง ช่วยประสานงานการสื่อสาร คาดการณ์ความต้องการของซัพพลายเชน วางแผนเส้นทางการเดินให้หุ่นยนต์ในคลังสินค้า ด้านทรัพยากรบุคคล เป็น virtual recruiter ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ SIEMENS ใช้เครื่องมือ Gen AI ช่วยมอนิเตอร์ปัญหาและซ่อมบำรุงอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ทั่วโลก AI Therapeutics ใช้ Gen AI ปฏิรูปการค้นคว้าหรือพัฒนายา หรือ P&G นำมาช่วยเร่งกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
มร. ฮานโน สเตกมานน์ (Mr. Hanno Stegmann) กรรมการผู้จัดการและพันธมิตร BCG X. Venture เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “เทคโนโลยี AI ไม่ได้มาแทนที่ความอัจฉริยะของมนุษย์ แต่เป็นเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มความสร้างสรรค์และความฉลาดของมนุษย์ องค์กรควรให้ความสำคัญกับการนำ AI มาใช้ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาด โดยไม่ถูกดิสรัป ซึ่งบริษัทที่มีการนำ AI มาใช้ จะสามารถสร้างธุรกิจใหม่ๆ และเติบโตได้ดีกว่า และพนักงานสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ดี AI ก็มาพร้อมกับโอกาสและความเสี่ยง ดังนั้นองค์กรจึงต้องเรียนรู้ และใช้ AI อย่างระมัดระวัง”
ดังนั้น ผู้นำองค์กรจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของ AI โดย 1. หาความรู้ในการนำ Gen AI มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างถูกต้อง 2. “ผสาน AI เข้ากับกลยุทธ์” ขององค์กร 3. “ประเมินความพร้อมและปลดล็อกอุปสรรคต่างๆ” ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ 4. มองหาการใช้งานที่มีคุณค่าสูงสุดสำหรับธุรกิจ และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น พร้อมเตรียมแผนรองรับ 5. กำหนด “จริยธรรม” และแนวทางการใช้งาน AI ที่มีความชัดเจนและมีความรับผิดชอบ 6. “เตรียมองค์กรและบุคลากร” สำหรับนำ Gen AI มาใช้ และเสริมทักษะด้าน AI ให้แก่พนักงาน และ 7. วางแผนการออกแบบขั้นตอนการทำงาน จนถึงการนำ Gen AI ไปใช้งานให้ประสบผลสำเร็จ
AI Governance: ศักยภาพมหาศาลมี กรอบการควบคุมต้องมา
เหรียญมีสองด้านเสมอ ด้านคุณประโยชน์มีมากมาย แต่ AI ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงหลายประการ หนึ่งในประเด็นที่พูดถึงทั่วโลกอย่างกว้างขวางในขณะนี้จึงเป็นเรื่อง AI Governance หรือการควบคุมผลกระทบจากการใช้ และการสร้างธรรมาภิบาลในการใช้ AI
ความเสี่ยงหลัก ๆ 4 ประการในการใช้งาน AI คือ 1. อาจนำไปสู่การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและลิขสิทธิ์ต่าง ๆ (Intellectual property and copyright infringement) 2. ผลการประมวลข้อมูลมีอคติ (Biased outputs) 3. ความปลอดภัยทางไซเบอร์และความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Cybersecurity and data privacy) และ 4. การประมวลคำตอบที่ออกมาไม่ถูกต้อง (Hallucination/ Confidently wrong answers)
ดร. ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ได้ให้ภาพรวมของการใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล (AI Governance) นั้น มีการกำกับด้วยนโยบาย ขั้นตอนการปฏิบัติการ และเครื่องมือ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า มีการนำ AI มาใช้อย่างถูกต้องและมีความรับผิดชอบ ซึ่งองค์ประกอบสำคัญของการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible AI) 4 ประการ คือ 1. บรรลุจุดประสงค์ทางธุรกิจ 2. ปฏิบัติตามหลักจริยธรรมด้าน AI 3. ปฏิบัติตามข้อกฎหมายและข้อกำกับที่เกี่ยวข้อง และ 4. บริหารความเสี่ยงภายในขอบเขตที่ยอมรับได้
ในส่วนขององค์กร กรอบการทำงานเพื่อสนับสนุนให้เกิดธรรมาภิบาลในการประยุกต์ใช้ AI (AI Governance Guideline) ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1. กำหนดโครงสร้างการกำกับดูแล (AI Governance Structure) เพื่อเตรียมองค์กรให้พร้อม 2. วางกลยุทธ์การใช้งาน AI อย่างมีธรรมาภิบาล (AI Strategy) รวมถึงการบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และ 3. การดำเนินงานด้าน AI (AI Operation) เพื่อกำกับการปฏิบัติงานและการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับ AI
The Humanoid Workforce: แรงงานสมองกล
การเสวนาเรื่อง “The Humanoid Workforce: Competency & Collaboration” คุณเชาวลิต รัตนกรไกรศรี Chief Technology Officer บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “AI เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เพราะวันนี้ทุกองค์กรพยายามสรรค์สร้างนวัตกรรม ทำน้อยแต่ได้มาก หรือ Do more with less ซึ่งวันนี้ AI โดยเฉพาะ Generative AI จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากภายในองค์กร ทำให้พนักงานสามารถเอาเวลาไปสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เป็น value added ให้กับองค์กร หรือให้บริการแก่ลูกค้าขององค์กรได้ดีขึ้น ยุค Generative AI เป็นเหมือนกับจุดเปลี่ยนเหมือนในอดีตที่เรามีอินเทอร์เน็ต, Mobile หรือ smartphone เป็นครั้งแรก Generative AI ที่เกิดขึ้นมาก็จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญเช่นกัน วันนี้ เราอาจกำลังก้าวจากการทำ Digital Transformation ไปสู่การทำ AI Transformation สิ่งที่สำคัญที่อยากฝากให้ทุกองค์กรได้มอง คือ เรื่องของ AI Transformation หรือ AI-First company มันไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของคน เรื่องของ Process และเรื่องของเทคโนโลยี ที่ต้องมองไปพร้อม ๆ กัน เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว แต่สิ่งที่เราต้องไม่ลืมในฐานะผู้นำองค์กรคือ เราจะทำอย่างไรที่จะสรรค์สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้พนักงานของเรามี growth mindset สามารถปรับตัว เรียนรู้ กับเทคโนโลยี แล้วนำความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในงานของตัวเอง ในองค์กร เพื่อให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีขึ้น สิ่งที่สำคัญคือ เทคโนโลยีต้องมาพร้อมกับ People และวัฒนธรรมองค์กร ที่ก้าวอย่างต่อเนื่องไปพร้อม ๆ กัน”
นอกจากนี้ ในงาน Digital Dialogue 2024 วันแรก ยังมีการแบ่งปันแนวคิดและการใช้งาน AI ในด้านต่าง ๆ อาทิ AI-Driven Innovation for Longevity นวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อชีวิตที่ยืนยาว, AI-Powered Marketing: Flipping the World การใช้ AI พลิกโฉมการตลาด และตัวอย่างการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จจากองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ที่เพิ่งได้รับรางวัล Digital Transformation Excellence Awards เมื่อปลายปีที่ผ่านมา อย่าง บริษัท ยูนิลิเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
AI for Smart City, Smart Living AI กับการยกระดับเมือง และคุณภาพชีวิต
ในส่วนของวันที่สอง ที่จัดขึ้นภายใต้ธีม AI Mastery: Harnessing Digital Technology for Smart City Development” โดยเน้นในเรื่องการนำเทคโนโลยี AI ไปใช้ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนที่อาศัยในเมืองใหญ่ โดยในวันนี้มีผู้บริหารจากองค์กรธุรกิจชั้นนำอย่าง หัวเว่ย บีเอ็มดับเบิ้ลยู และกูเกิ้ล คลาวด์ มาร่วมแบ่งปันข้อมูล
ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ กลุ่มงานส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า “ดีป้า มีบทบาทหลักในด้านการส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ปัจจุบันมีเมืองที่ได้รับการประกาศเป็นเมืองอัจฉริยะจำนวน 36 เมือง และเมืองที่เป็นเขตส่งเสริมจำนวน 117 เมือง นอกจากนี้ depa ยังพยายามผลักดันเรื่อง City Data Platform หรือฐานข้อมูลเมือง เพื่อให้ทุกเมืองมีข้อมูลบริหารจัดการเมืองในมิติที่ตัวเองต้องการ และสามารถสร้างโซลูชั่นใหม่สำหรับตอบโจทย์ความต้องการจริง ๆ ของผู้อาศัยอยู่ในเมือง รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยง ระหว่างผู้ประกอบการ ภาครัฐและภาคเอกชน และการทำงานร่วมกันผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น บัญชีบริการดิจิทัล ที่รวบรวม Digital Solution เพื่อให้ภาคส่วนต่าง ๆ สามารถเลือกใช้สินค้าและบริการด้านดิจิทัล ที่ทาง depa ให้การรับรองไว้ด้วยกัน”
“สำหรับงาน Digital Dialogue ในวันนี้ ก็มี Startup ที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีมา Pitching นำเสนอโซลูชั่นที่จะสามารถช่วยให้เมืองสมาร์ทมากขึ้น ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง Ecosystem ให้เมืองอัจฉริยะมีทั้งผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ แล้วก็เจ้าของเมืองที่จะใช้ข้อมูลในการตัดสินใจและพัฒนาให้เป็นเมืองอัจฉริยะจริง ๆ ตามจุดประสงค์ที่เราต้องการขับเคลื่อนให้กลายเป็นเมืองที่สามารถเอาเทคโนโลยีมาใช้ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น” ดร.ชินาวุธ กล่าวเสริม
คุณสุรศักดิ์ วนิชเวทย์พิบูล หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี แผนกธุรกิจคลาวด์ ประเทศไทย บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวถึงบทบาทของ AI ที่มีต่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะว่า “ในปัจจุบัน การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ถือว่ามีส่วนสำคัญมากต่อการช่วยยกระดับความสะดวกสบายและมาตรฐานคุณภาพชีวิตให้คนไทย ทั้งนี้ องค์ประกอบหลักที่จะทำให้เกิดเมืองอัจฉริยะขึ้นได้นั้น ขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีที่มีความเชื่อมโยงถึงกัน โดยการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนจะช่วยทำให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองได้”
เขายังกล่าวเสริมว่าการพัฒนาเทคโนโลยีคลาวด์ของเมืองให้รวมศูนย์เป็นหนึ่งเดียว ยกระดับการบริหารจัดการข้อมูลให้มีความต่อเนื่อง เหมาะสมกับสถานการณ์ตรงหน้า รวมทั้งมีการส่งต่อข้อมูลเพื่อใช้วิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการสาธารณะต่างๆ จากระบบเซ็นเซอร์อัจฉริยะ, การเชื่อมต่ออัจฉริยะ, ระบบโครงสร้างพื้นฐานและแพลตฟอร์มอัจฉริยะ, ระบบวิเคราะห์ข้อมูล AI, แอปพลิเคชันอัจฉริยะ รวมไปถึงระบบ IoT แบบครบวงจร ซึ่งเป็นดั่งสมองและกระดูกสันหลังของเมือง จะช่วยให้เราสามารถรับรู้การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองได้อย่างครอบคลุมและเรียลไทม์ นอกจากนี้ การเพิ่มขีดความสามารถในการประมวลผลข้อมูล ก็จะช่วยให้เราสามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองคือการขับเคลื่อนไปสู่การสร้างเมืองอัจฉริยะได้อย่างแท้จริง”
ในงานยังได้มีการจัดแสดงและนำเสนอผลงานของผู้ประกอบการธุรกิจ Startups ที่นำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในด้านต่าง ๆ เพื่อส่งเสริม “การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ” จำนวน 14 ราย ที่ได้ร่วม Pitching ภายในงาน อาทิ IQuan, Wake Up Waste, Innolab, iCreative Systems, Unizorn, Go Mamma, Recycle Day, Graffity, Planet C, Nova โดยผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ คือ Etran สตาร์ทอัพผู้พัฒนามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าและผู้ให้บริการด้านการขนส่ง (Fleet-as-a-Service)
งาน Digital Dialogue 2024 – AI Mastery, The Implementation for Business and Smart City ได้รับการสนับสนุนการจัดงานจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) – กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาขน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และเอสซีจี
Wandee Lerdsupongkit