TMA จับมือ สคร. จัดงาน “รัฐวิสาหกิจไทยในโลกอนาคต” เสริมกำลังขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
กรุงเทพฯ – 7 มีนาคม 2567 – เพราะรัฐวิสาหกิจเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นกลไกและเครื่องมือของรัฐ ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และเป็นผู้ดูแลบริหารจัดการการสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 เกณฑ์หลักที่สถาบัน IMD ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ใช้จัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ ในโลก สถาบันการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จึงได้จับมือกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จัดกิจกรรมพิเศษ “รัฐวิสาหกิจไทยในโลกอนาคต” โดยมีการรับฟังและแลกเปลี่ยนมุมมอง เกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจในโลกยุคใหม่ โดยจะจัดเป็นซีรี่ส์ตลอดปี 2567
สำหรับในครั้งแรกนี้วิทยากรประกอบด้วย ดร.ธิบดี วัฒนกุล สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) องค์กรหลักในการบริหารพัฒนาเพิ่มมูลค่ารัฐวิสาหกิจ และผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชน อย่างคุณกานต์ ตระกูลฮุน ประธานคณะกรรมการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และทรัสตีของ TMA คุณนิธิ ภัทรโชค ประธาน TMA และที่ปรึกษา President & CEO เครือซิเมนต์ไทย คุณธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธาน TMA Center for Competitiveness และ คุณพรกนก วิภูษณวรรณ ผู้อำนวยการ TMA Center for Competitiveness โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากรัฐวิสาหกิจจำนวนมากเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
คุณพรกนก วิภูษณวรรณ ผู้อำนวยการ TMA Center for Competitiveness ได้ให้ข้อมูลว่า “ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อมองภาพรวมผลการจัดอันดับขีดความสามารถของไทย โดย IMD ในช่วง 27 ปีที่ผ่านมา (ปี 1997-2023) ขีดความสามารถค่อนข้างคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง ประเทศไทยอยู่ที่ประมาณอันดับ 30 กว่า ๆ มาโดยตลอด ซึ่งน่าสนใจว่า ไทยจะทำอย่างไรในการที่จะยกระดับอันดับขีดความสามารถให้ดีขึ้นจากเดิม”
ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ขึ้นมาก แต่ที่อันดับยังไม่ดีขึ้นก็เพราะประเทศอื่น ๆ ก็มีความเข้มแข็งในการพัฒนาตนเองมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้มีความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด หรือจากที่ตามหลังประเทศไทย ก็เริ่มขึ้นมาใกล้เคียงหรือดีกว่าในบางมิติ
คุณนิธิ ภัทรโชค ประธาน TMA และที่ปรึกษา President & CEO เครือซิเมนต์ไทย ให้ข้อมูลว่า TMA ได้ดำเนินการเรื่อง Competitiveness มาอย่างยาวนาน ทำให้เห็นการพัฒนาในด้านต่าง ๆ โดยรวมแม้จะยังไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงอันดับมากนัก แต่ก็ยังต้องมุ่งมั่นดำเนินการต่อไป โดยการจัดอันดับเรื่อง Competitiveness ของ IMD นั้น ให้ความสำคัญใน 4 เรื่องคือ Economic Performance สมรรถนะหรือความแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศ Government Efficiency ประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาครัฐ Business Efficiency ประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาคธุรกิจ และสุดท้ายที่รัฐวิสาหกิจมีส่วนในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างมากคือ Infrastructure ที่ประกอบไปด้วย โครงสร้างพื้นฐานทั้ง Hard Infrastructure อย่างถนนหนทาง ความมั่นคงทางพลังงาน น้ำประปาและอื่น ๆ และ Soft Infrastructure อย่างการศึกษา และการเสริมสร้างสังคมที่ชีวิตมีความมั่นคง”
“โดยโจทย์สำคัญของรัฐวิสาหกิจ ทำอย่างไรจะสามารถสร้างสมดุลระหว่างการหารายได้ให้รัฐวิสาหกิจให้สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน และเรื่องของการสร้างโครงสร้างที่เอื้อต่อเศรษฐกิจการลงทุนให้ธุรกิจแข่งขันได้ ที่สำคัญอะไรคือตัวชี้วัดหากรัฐวิสาหกิจจะร่วมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศไทย ถ้าหากสร้างตัวชี้วัดผิด เราอาจไปไม่ถึงจุดหมาย”
ทางด้าน ดร.ธิบดี วัฒนกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้ข้อมูลว่า “รัฐวิสาหกิจมีจำนวน 52 แห่ง ใน 9 สาขา ถ้ารัฐวิสาหกิจมีการพัฒนาขับเคลื่อนได้เร็ว จะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศพัฒนาไปได้ไกลมาก เช่น การท่าเรือฯ ถนน จะช่วยเรื่องการขนส่งโลจิสติกส์ต่าง ๆ ทำให้ต้นทุนภาคเอกชนต่ำลง และมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น สำหรับตัวชี้วัดของ IMD ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจอย่างมาก ขณะนี้ มีการจัดทำแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 – 2570 (ฉบับ ก.ค. 66) ภายใต้ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 และร่างแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 – 2570 (ฉบับปรับปรุง) ภายใต้ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ซึ่งกำลังจะนำไปหารือกับคณะรัฐมนตรี ซึ่งถ้าการดำเนินงานตามแผนเหล่านี้ ช่วยให้ธุรกิจและประชาชนมี Productivity สูงขึ้น ก็จะช่วยยกระดับอันดับขีดความสามารถได้ดีขึ้น เป็นการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ต้องการให้มีการพัฒนาลงทุนด้านการศึกษา สาธารณสุข ที่จะช่วยทำให้สังคมดีขึ้นด้วย”
คุณกานต์ ตระกูลฮุน ประธานคณะกรรมการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และทรัสตี ของ TMA ให้ความเห็นว่า “การที่จะให้ภาคเอกชนขับเคลื่อนเรื่อง Competitiveness อย่างเดียวคงไม่พอ แต่รัฐวิสาหกิจต้องช่วยขับเคลื่อนด้วย บทบาทของรัฐวิสาหกิจจึงมีความสำคัญมาก ในการที่จะต้องมีความเข้มแข็ง และมีศักยภาพสูง ในการที่จะต้องทุ่มเทเพื่อประเทศชาติ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ภาครัฐสามารถช่วยสร้าง Impact ต่อประเทศได้มากขึ้นคือ การปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินการ แต่ต้องอย่าใจร้อน ผิดขั้นตอน โดย 3 สิ่งสำคัญคือ การสร้างองค์ความรู้ สร้างขีดความสามารถ และโอกาสในการทำงาน และหากองค์กรมี ให้คณะกรรมการบริหารช่วยให้แนวทาง ก็จะสามารถช่วยให้องค์กรเติบโตไปได้อย่างมาก เช่น ปตท. ที่วันหนึ่งนิยามธุรกิจตัวเองใหม่ ในการที่จะสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้แก่ประเทศ มองว่ารัฐวิสาหกิจจะเป็นเครื่องมือสำคัญของประเทศในการจะขับเคลื่อนเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้”
คุณธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธาน TMA Center for Competitiveness สรุปเกี่ยวกับงานในวันนี้ว่า “รัฐวิสาหกิจเป็นผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย โดยมีทั้งอำนาจหน้าที่และทรัพยากรจำนวนมาก วันนี้ก็เป็นการเชิญชวนเข้ามามีความร่วมมือกัน รวมทั้งรับทราบมุมมอง ปัญหาประเด็นต่าง ๆ ที่ประสบอยู่ ขณะเดียวกันก็นำเอาประสบการณ์หรือแนวทางการบริหารซึ่งอาจจะมีความแตกต่างของภาคเอกชนมาร่วมแชร์ ก็เป็นการเริ่มสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของรัฐวิสาหกิจในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและหาแนวทางในการทำงานร่วมกัน เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาหรือใช้ทรัพยากรในแนวทาง ที่เสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างเหมาะสมต่อไป”
Wandee Lerdsupongkit