ข่าวประชาสัมพันธ์

อินโดนีเซียจัดการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงอาเซียน ส่งเสริมการดูแลผู้พิการอย่างครอบคลุม

การคุ้มครองและเติมเต็มสิทธิของผู้พิการในอาเซียนได้รับการดำเนินการอย่างครอบคลุม ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ การจัดหาโอกาสในการจ้างงาน และการคุ้มครองทางสังคม การดำเนินการอย่างครอบคลุมนี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ผู้พิการสามารถดำรงชีวิตอิสระได้และมีศักดิ์ศรีเพิ่มขึ้นในเวลาเดียวกัน

ประเด็นนี้เป็นหนึ่งในประเด็นหลักของการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงอาเซียน ว่าด้วยการพัฒนาที่ครอบคลุมผู้พิการและความร่วมมือหลังปี 2568 (ASEAN High-Level Forum on Disability Inclusive Development and Partnership beyond 2025 หรือ AHLF) ซึ่งเป็นการประชุมระดับนานาชาติที่จัดขึ้นที่เมืองมากัซซาร์ ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม 2566 โดยมีตัวแทนจากอาเซียน 13 ประเทศ รวมทั้งผู้สังเกตการณ์และผู้แทนของประเทศอื่น ๆ เข้าร่วม

ผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วยรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการสังคมและการพัฒนา รวมถึงหน่วยงานและพันธมิตรในเครืออาเซียน ทั้งนี้ การประชุม AHLF ประจำปี 2566 เป็นหนึ่งในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่มีอินโดนีเซียทำหน้าที่เป็นประธานประชุม

องค์ปาฐกหลายท่านในการประชุม AHLF วันแรกให้ความสำคัญต่อการระบุความท้าทายในอาเซียน เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาที่ครอบคลุมผู้พิการ และที่ประชุมยังได้อภิปรายเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ และบทเรียนที่ได้รับจากผลกระทบของโรคระบาดทั่วโลกที่มีต่อชีวิตผู้พิการ

คุณตรี ริสมหารินี (Tri Rismaharini) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสังคมของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย กล่าวเปิดงานว่า เรื่องผู้พิการไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะในอาเซียนเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาระดับโลกด้วย เนื่องจากผู้พิการมีจำนวนค่อนข้างมาก ในอาเซียนมีผู้พิการจำนวนประมาณ 62 ล้านคน โดยในอินโดนีเซียมีอยู่ราว 22.9 ล้านคน ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุม AHLF จึงได้เชิญผู้เข้าร่วมประชุมจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลีย มาร่วมรับทราบว่า ประเทศในอาเซียนพยายามดำเนินการเกี่ยวกับผู้พิการได้ดีอย่างไร พร้อมทั้งร่วมหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกันด้วย

“เราหวังว่า การประชุม AHLF นี้จะช่วยให้เราดำเนินการด้านผู้พิการในอาเซียนได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต” รัฐมนตรีกระทรวงกิจการสังคมกล่าวต่อสื่อมวลชนหลังเสร็จพิธิเปิดประชุมในเมืองมากัซซาร์ เมื่อวันอังคารที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา

คุณอัซฮาบุล กะห์ฟิ (Ashabul Kahfi) ประธานคณะกรรมาธิการชุดที่ 8 (Commission VIII) ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเข้าร่วมประชุม กล่าวว่า คณะกรรมาธิการของตนชื่นชมขั้นตอนการดำเนินงานของกระทรวงกิจการสังคมในการจัดประชุม AHLF มาก โดยกฎหมายฉบับที่ 8 ปี 2559 ว่าด้วยผู้พิการนั้นระบุว่า รัฐบาลควรร่วมมือกับหลายฝ่ายเพื่อจัดหาบริการที่ดียิ่งขึ้นสำหรับผู้พิการ

บริการดังกล่าวมีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้ผู้พิการสามารถดำรงชีวิตอิสระได้ และขณะเดียวกันก็เป็นการยกระดับคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้พิการด้วย “ดังที่ทราบกันว่า กระทรวงกิจการสังคมให้ความสนใจอย่างมากต่อเรื่องสิทธิผู้พิการ “จากงบประมาณราว 80 ล้านล้านรูเปียห์อินโดนีเซีย ส่วนหนึ่งใช้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้พิการ” คุณอัซฮาบุล กะห์ฟิ กล่าว

การเติมเต็มสิทธิผู้พิการเป็นความพยายามที่จะทำให้การพัฒนามนุษย์ของอินโดนีเซียเป็นจริงตามที่ออกแบบไว้ไม่ให้มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง รวมถึงผู้ที่มีความพิการ คำพูดนี้กล่าวโดยศาสตราจารย์ นูนุง เนอร์ยาโตโน (Nunong Nuryartono) รองผู้ประสานงานการปรับปรุงสวัสดิการสังคม กระทรวงประสานงานเพื่อการพัฒนามนุษย์และวัฒนธรรม

ศาสตราจารย์ นูนุง กล่าวว่า กระทรวงกิจการสังคมได้ออกแบบโครงการมากมายเพื่อให้ผู้พิการสามารถหลุดพ้นจากความยากจนขั้นรุนแรงได้ “ประธานาธิบดีประกาศว่าจะไม่มีความยากจนขั้นรุนแรงอีกต่อไปในปี 2567 และนั่นคือเป้าหมายร่วมกันของเรา”

ในโอกาสเดียวกันนี้ คุณนอร์แมน ยูเลียน (Norman Yulian) ประธานสมาคมผู้พิการแห่งอินโดนีเซีย กล่าวชื่นชมความจริงจังของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงกิจการสังคม ที่ทำให้อินโดนีเซียมีความเสมอภาคและเป็นมิตรต่อผู้พิการ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้พยายามดำเนินการหลายด้านเพื่อสร้างอินโดนีเซียที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม รวมถึงผู้พิการ ทั้งในด้านการศึกษาและการจ้างงาน “เราหวังว่าในการประชุม AHLF นี้ เราจะสามารถออกแบบแผนแม่บทเพื่อดำเนินการด้านผู้พิการสำหรับภูมิภาคอาเซียนได้” คุณนอร์แมนกล่าว

สำหรับการประชุมที่เมืองมากัซซาร์นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสังคมกล่าวว่า การมีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายประเทศก็เป็นโอกาสที่อินโดนีเซียจะได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์และหลากหลายรูปแบบของประเทศด้วย

แหล่งท่องเที่ยวบนเกาะสุลาเวสีใต้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาก เนื่องจากเกี่ยวข้องกับอารยธรรมของมนุษย์ คุณตรี ริสมหารินี กล่าวว่า “ศักยภาพด้านการท่องเที่ยวนี้หาได้ยากมากและพิเศษมาก ดังนั้นจึงควรได้รับการส่งเสริมไปทั่วโลก”

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้แหล่งท่องเที่ยวมีความเหมาะสมสำหรับผู้พิการ เพราะรัฐบาลต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียสามารถทำได้ สถานที่ท่องเที่ยวที่คณะผู้แทนที่เข้าร่วมประชุม AHLF จะไปเยี่ยมชมนั้นมีความเป็นมิตรต่อผู้พิการเป็นอย่างมาก

“ตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการก่อสร้าง ทุกอย่างดำเนินการโดยผู้พิการ เพื่อให้ได้สิ่งที่ตรงกับความต้องการของพวกเขา ขั้นตอนนี้ยังแสดงให้เห็นด้วยว่า พวกเขามีความสามารถมากจริง ๆ หากได้รับโอกาส” คุณตรี ริสมหารินี กล่าว

ที่มา: กระทรวงสังคมอินโดนีเซีย

Email

media123